หลักการเขียนลายไทย
ในการเขียนลายไทยนั้นถือเป็นงานที่ประณีต จึงจำเป็นต้องเขียนและตัดเส้นลายด้วยความรอบคอบ ใจเย็นๆ ค่อยทำค่อยไป เพราะลายไทยมีเส้นที่สลับซับซ้อนมาก มักจะประกอบไปด้วยเส้นโค้งแทบทั้งสิ้น นอกจากเส้นขอบลายเท่านั้นที่เป็นเส้นตรง การขดของวงลายก็ต้องขดให้ได้วงจริงๆ ดังคำที่บรมครูว่าไว้ว่า “ขดให้ได้วง ตรงให้ได้เส้น” ดังนั้นการเขียนลายไทยจะต้องอาศัยหลักการสังเกตที่ละเอียดถี่ถ้วนจึงจะเขียนผลงานได้ดี ในการฝึกเขียนใหม่ๆ จำเป็นจะต้องเขียนลายแต่ละตัวอย่างซ้ำๆ หลายหนจนจำได้ขึ้นใจซึ่งรวมทั้งเส้นปลีกย่อยที่ผสมอยู่ในตัวลายแต่ละตัวด้วย ฝึกเขียนลายให้ได้ทั้งตัวด้านซ้ายและด้านขวา เขียนเอายอดขึ้นและเอายอดลงให้ได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า จงฝึกเขียนลายในทิศทางต่างๆ ให้ได้โดยรอบ
ผู้ที่มีฝีมือในการเขียนลายไทยย่อมยึดหลัก 5 ประการ ดังต่อไปนี้
1. ความอ่อนโยนของเส้นตัวลาย
2. แบ่งระยะตัวลายให้พอเหมาะกันทั้งภาพ
3. ช่องไฟ พื้นที่ว่าง มีระยะพอเหมาะกันทั้งภาพ
4. การใช้เถาลายอ่อนช้อยได้วงก้าน รวมทั้งการประดิษฐ์พลิกแพลงตัวกนก กาบ นกคาบ หน้าขบ และยอดลายดูแล้วยอดไม่ด้วน
5. การผูกลายควรให้อยู่ในหมู่เดียวกัน เช่น ลายกนกสามตัว ลายเปลว ลายใบเทศ ฯลฯ เป็นต้น
โดยจะยึดหลัก 5 ประการนี้ นำไปพิจารณาลายที่เขียนอยู่เสมอ และการผูกลายก็ย่อมจะต้องถูกต้องและงดงาม
|